วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิวาทะรายงานสลายชุมนุม 53: ปธ.กรรมการสิทธิ - ศปช.


(9 ส.ค.56) เมื่อเวลา 20.00น. รายการคมชัดลึก ทางเนชั่นแชนแนล ตอน ความจริง...พฤษภาอำมหิต 2553 โดยบัญชา แข็งขัน ผู้ดำเนินรายการ เชิญ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ ขวัญระวี วังอุดม ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) และ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล  ร่วมรายการ
โดยวานนี้ (8 ส.ค.) เว็บไซต์ กสม. เผยแพร่รายงาน "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553" ความยาว 92 หน้า โดยประธาน กสม. ระบุว่าได้ส่งรายงานให้คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าอีก 1-2 อาทิตย์คงจะเข้า ครม. แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน
ทั้งนี้ ศปช. ก่อตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมร่วมกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม เมื่อวันที่ 19 ก.ค.53 โดยมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และสัมภาษณ์พยาน ผู้ได้รับผลกระทบฯ และเผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 19 ส.ค.55 
000

ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เหมาะสมหรือไม่

ช่วงแรกของรายการผู้ดำเนินรายการถามเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในช่วงเริ่มต้นของการชุมนุม โดยนางอมรา กล่าวว่า บทสรุปมีแนวการมองคล้าย คอป. เพราะข้อมูลที่ได้ก็ใกล้เคียงกัน ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ รับรองสิทธิการชุมนุม โดยต้องเป็นไปอย่างสงบและไม่ใช้อาวุธ จากการศึกษา ตั้งแต่ 12 มี.ค. ถึง 7 เม.ย. 53 พบว่า การชุมนุมยังไม่รุนแรงและยังไม่พบอาวุธ ยังอยู่ภายใต้ใต้รัฐธรรมนูญ แต่หลังจากนั้น เริ่มมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 7 เม.ย. 53 และต่อมามีการใช้ความรุนแรงจนเกินขอบเขต
ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ บอกว่าเป็นประชาธิปไตยจะต้องสนับสนุนสิทธิในการชุมนุมของประชาชน การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ครั้งนั้น เกิดขึ้นก่อนมีการชุมนุม เช่นเดียวกับกรณีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เคยประกาศไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ ในสังคมประชาธิปไตย สิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมใช้สิทธิเรียกร้องต่อคนมีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งพอประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง จึงขัดหลักนี้
ทั้งนี้ตั้งแต่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีการปิดเว็บกว่า 9,000 เว็บในช่วงหนึ่งเดือน เท่ากับศาลต้องใช้เวลาพิจารณา 300 กว่าเว็บต่อวัน ถามว่าในความเป็นจริงทำได้หรือไม่ ทั้งยังไม่มีการแถลงว่าแต่ละเว็บก่อความวุ่นวายอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีการสั่งปิดสถานีไทยคม ทำให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปชุมนุมที่นั่น จากนั้นรัฐบาลก็ออกหมายจับแกนนำ บอกให้ย้ายมวลชนจากแยกราชประสงค์ไปที่สะพานผ่านฟ้า แต่วันต่อมา ศอฉ. กลับไปสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า หมายความว่าอย่างไร จะเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลมีส่วนทำให้มวลชนโกรธเคือง โดยเฉพาะการปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล ทำให้ไม่มีสื่อของเสื้อแดงที่จะสะท้อนเสียงของเขา ยิ่งกระตุ้นให้มวลชนเกิดอารมณ์
ทั้งนี้การตีความการชุมนุมโดยสงบ ไม่ควรตีความอย่างแคบๆ เช่น ก่อความวุ่นวาย หงุดหงิด เดือดร้อน เพราะการชุมนุมย่อมสร้างความเดือดร้อน แต่จะทำอย่างไรให้คนเดือดร้อน มีพื้นที่ รัฐบาลมีหน้าที่เอื้อให้เขาชุมนุมได้โดยสงบ
ต่อมา นางอมรากล่าวว่า เดือนมีนาคม เป็นจุดเริ่มต้นที่ควรดูให้ละเอียดว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดอะไรตามมา และย้ำว่าการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่จำเป็นไม่ควรใช้โดยเด็ดขาด เพียงแต่ว่าตอนนั้นไม่ได้ออกมาแถลงคัดค้าน เพราะอาจจะยังงงๆ อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในระยะแรก การชุมนุมยังสงบ หลังๆ ถึงมีกิจกรรมที่รุนแรงขึ้น เช่น  การเข้าไปในสถานที่ราชการ รัฐสภา เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“ไม่ได้บอกว่าการปิดพีเพิลชาแนลนั้นถูก การขัดขวางการเผยแพร่ข่าวสารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นข้อบกพร่องของรัฐบาลแน่นอน”


000

ผู้ชุมนุมมีสิทธิเคลื่อนขบวนออกจากที่ตั้งหรือไม่

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ผู้ชุมนุมมีสิทธิเคลื่อนออกจากที่ตั้งไหม ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า  เป็นเรื่องการวางแผนของผู้ชุมนุมและแกนนำ ถ้าเขาจะค่อยๆ รุกและเริ่มแรงกดดัน ก็เป็นการวางแผนของผู้ชุมุนม คนที่เคยทำงานมวลชนมาก็รู้ เมื่อถึงขั้นนึงไม่ได้อย่างที่ตั้งใจก็ต้องยกระดับ เพราะฉะนั้น เป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนมวลชน
ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะยกกำลังไปปิดล้อม ส่วนตัวมองว่า การเอาคนบุกไปรัฐสภาอาจสุ่มเสี่ยงเกินไป แต่ขณะนั้น มีการตัดสัญญาณพีเพิลชาแนลเป็นระยะๆ ขณะที่ในสภากำลังจะพิจารณาต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคง อย่างไรก็ตามความวุ่นวายขึ้นที่สภา ก็จบในไม่กี่ชั่วโมง ทั้งนี้ตามหลักกฎหมาย การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะให้อำนาจฝ่ายบริหาร และไม่มีการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องมีความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์ แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้มีความรุนแรง และรัฐสภาทำงานได้ปกติ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลกลับประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ



000

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "เขาเลิกถึงธันวาเชียวหรือ"

ส่วนคำถามของผู้ดำเนินรายการที่ว่า กรณีรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบอกว่า การชุมนุมใช้เวลานานเกินไป ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการใช้ชีวิตปกตินั้น น.ส.ขวัญระวี ตอบว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ต้องกลับไปดูว่ารัฐบาลเอื้ออย่างไรให้ผู้ชุมนุม ชุมนุมโดยสงบ ทั้งนี้ การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่ควรคงไว้นาน แต่กรณีของไทย มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ 300 กว่าวัน ตั้งแต่ 7 เม.ย. ถึง 22 ธ.ค. ปี 2553
โดยนางอมรา ถามกลับว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขายกเลิกถึงธันวาเชียวหรือ ดิฉันไม่แน่ใจ เรื่องนี้ต้องไปถามรัฐบาลว่าทำไม" โดยประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวต่อว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อผ่าน 19-20 พ.ค. ไปแล้ว ก็ไม่ควรคงไว้ ควรยกเลิกเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายแล้ว
ทั้งนี้ รัฐบาลก็ระบุว่า หน่วยข่าวกรองได้ข่าวว่าจะมีกิจกรรมอะไรต่อ มีระเบิด มีเอ็ม 79 จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตรวจสอบแล้ว พบว่าจริง เพราะมีระเบิดประปราย และมีเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมหลายเหตุการณ์ที่เห็นว่ารุนแรง
ทั้งนี้ รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยืนยันว่ามีชายชุดดำ มีอาวุธสงคราม และระเบิดจริง โดยนางอมราระบุว่า มีการเก็บข้อมูลหลายทาง ทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล สัมภาษณ์คนในเหตุการณ์ พยายามเชิญบุคคลมา 1,000 กว่าคน ได้มา 184 คน เป็นคนในพื้นที่ พยานเหล่านี้ยืนยันว่าเห็นชายชุดดำ มีอาวุธ และไม่ใช่พยานคนเดียวด้วย จึงกล้าเขียนว่ามีการใช้อาวุธและมีชายชุดดำ รวมถึงที่ศาลาแดง พยานก็จะบอกว่ามีอาวุธและมีชายชุดดำ
ขณะที่ น.ส.ขวัญระวี ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมก่อน โดยระบุว่าดูลำดับเวลาของการชุมนุม โดยในวันที่ 10 เม.ย. ที่รัฐบาลเคลื่อนกำลังแต่เช้า มีรายงานตั้งแต่ช่วงกลางวันว่ามีผู้ถูกยิงด้วยกระสุนจริงที่บริเวณสะพานมัฆวาน โดยเป็นคนเกาหลีใต้ถูกยิงที่ไหล่ ทั้งนี้ผู้ชุมนุมหลายคนถูกยิง มีกระสุนในตัว รัฐบาลบุกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าว่าจะใช้กำลัง เพราะฉะนั้น ผู้ชุมนุม จึงไม่มีอาวุธในมือ
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า สรุปเร็วไปหรือไม่ น.ส.ขวัญระวี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยให้กับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม หรือ ศปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศปช. มีการจัดสัมมนา และทบทวนข้อมูลหลายครั้ง จนถึงปัจจุบัน และยืนยันว่าไม่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะเรื่องชายชุดดำ ซึ่งในรายงานของ ศปช. ก็สรุปว่า มี แต่ก็มีกรณีที่รัฐใช้กำลังกับผู้ชุมนุมก่อน ในวันที่ 10 เม.ย. มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงกลางวัน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่มีการยิงในระดับที่เหนือกว่าระดับเข่า มีคนถูกยิงด้วยกระสุนยางจนตาบอด มีการโปรยแก๊สน้ำตามาจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งทำให้คนไม่เกี่ยวได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากแก๊สน้ำตาด้วย และไม่ปรากฏในรายงานของ กสม.
ด้าน นางอมรา กล่าวว่า ไม่ทราบว่าฝ่ายรัฐใช้อาวุธก่อน ที่ผ่านมามีการคุยกับเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นการป้องกันตัว ก็มีความชอบธรรม
ต่อมาพิธีกรถามว่า ศปช. พบว่า ผู้ชุมนุมใช้อาวุธไหม น.ส.ขวัญระวี ตอบว่า มี แต่ไม่พบกรณีที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ผู้ดำเนินรายการถามว่าการใช้แก๊สน้ำตา ควรเริ่มใช้อย่างไร นางอมราตอบว่า ตามกฎการใช้กำลังมันก็มีเจ็ดขั้นตอน แต่ขั้นตอนนี้อยู่ขั้นไหนจำไม่ได้ มันน่าจะประมาณกลางๆ หลังจากขั้นตอนหนึ่ง สอง สาม มาแล้ว และจริงๆ มันควรทำอยู่บนพื้นราบ การใช้เฮลิคอปเตอร์ทำให้ผู้ที่อยู่ข้างล่างได้รับผลกระทบมาก ได้ติงไปแล้วว่าไม่เหมาะสม
ส่วน น.ส.ขวัญระวี ตอบว่า ในวันที่ 10 เม.ย. มีการใช้แก๊สน้ำตา 200 ลูก ซึ่งกฎการใช้กำลังของกองทัพบอกว่าไม่ควรใกล้เกิน ต้องเว้นระยะ 2.5 เมตร ไม่กว้างเกินไป แต่นี่กินพื้นที่กว้างมาก และตกใส่ร้านอาหารศรแดงด้วย

000

ชายชุดดำ 10 เมษา

ส่วนเรื่องชายชุดดำนั้น ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ที่เห็นชัดคือเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ที่สี่แยกคอกวัว มีรายงานว่ามีคนเห็นชายชุดดำ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าฝ่ายไหน จากนั้นมีเรื่อยๆ หลายเหตุการณ์ โดยข้อมูลนี้ได้จากผู้ได้รับผลกระทบ แล้วจึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่
ส่วน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ผู้ชุมนุมให้การว่าเห็นชายชุดดำ ไปไล่ดูคลิปวันที่ 10 เม.ย. พบว่ามีชายชุดดำ ที่ลงจากรถตู้ บริเวณสี่แยกคอกวัว เวลาสองทุ่ม แป๊บเดียว แล้วก็หายตัวไป และไม่พบชายชุดดำอีกหลังจากนั้น ซึ่งเราไม่รู้ว่าใคร เป็นฝ่ายไหน ผู้ชุมนุมบางคนมีความเชื่อว่า ชายชุดดำมาช่วยเขา ส่วนตัวมองว่า การใช้กำลังเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะสร้างความสับสน แต่ก็ไม่ใช่เงื่อนไข ให้รัฐใช้กำลังยิงใครก็ได้ อย่างที่เป็นอยู่
ด้านนางอมรากล่าวว่า จากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสื่อว่า มีความหลากหลายในการชุมนุม จะมีผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐ หรือใครก็ได้แทรกบริเวณนั้น การปรักปรำใครจึงทำได้ไม่ง่ายนัก ส่วน น.ส.ขวัญระวีตอบว่า การโยนความผิดไปที่ชายชุดดำนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมีการยิงก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏ และมีเหตุการณ์อื่นที่ไม่ได้มีชายชุดดำและมีการยิงเจ้าหน้าที่รัฐ
000

กรณีวัดปทุมวนาราม

ต่อมาผู้ดำเนินรายการสอบถามเรื่องกรณี 6 ศพวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 นั้น นางอมรากล่าวว่า ไม่มีชายชุดดำที่วัดปทุม จากรายงานได้คำตอบว่ามีการยิงโต้ตอบกันใต้สะพาน ก็คงเป็นผู้ชุมนุมกับฝ่ายรัฐ นอกจากนี้ มีพยานบอกว่าในวัดปทุมวนารามมีอาวุธ และกรณีหกศพวัดปทุมฯ นั้น ไม่ใช่สภาพที่เกิดขึ้นจริง และได้ข้อมูลว่ามีคนตายข้างนอกแล้วลากเข้าไป ศพมีการเคลื่อนย้ายแล้วนำมาเรียงไว้
ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ถ้าดูสภาพการตาย ผู้เสียชีวิตทั้งหกราย ไม่มีอาวุธในมือ ตรงกับคำสั่งศาลไต่สวนการตาย ที่ว่าผู้เสียชีวิตทั้งหกไม่มีอาวุธในมือ แสดงว่า คนที่ตายไม่ได้ยิงต่อสู้จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องป้องกันตัวหรือยิงกราด ทั้งนี้ศพของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีกระสุนในร่างกาย 11 นัด นี่ไม่ใช่การยิงป้องกันตัว แต่เป็นการยิงกราด
โดยพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิต บอกว่า ศอฉ. พูดทุกวันว่าลูกเสียชีวิตนอกวัด ช่วงต้น พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ บอกว่ามีกระสุน 2 นัด และเธอยังพบจากคลิปว่าลูกเสียชีวิตในวัด การบิดเบือนข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นสาเหตุให้แม่ของกมนเกดซึ่งไม่ใช่เสื้อแดงเลย ผันตัวเองออกมาต่อสู้ให้ลูก
000

เด็กและสตรีในการชุมนุม

ต่อมาผู้ดำเนินรายการถามส่วนที่รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุถึงการที่ผู้ชุมนุมใช้เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์นั้น นางอมรา กล่าวว่า ปรากฏในคลิปชัดเจน แต่ดิฉันไม่อยากประณามมาก เพราะคนไทยอาจไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เขามาชุมนุมแล้วเอาเด็กขี่คอยืนดู อาจไม่ได้รู้สึกว่าละเมิดสิทธิเด็ก คือชาวบ้านไม่รู้จักเรื่องสิทธิเด็ก เป็นไปได้ว่าทำไปด้วยความไม่รู้ ทั้งตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรอยู่ในพื้นที่นั้น
ส่วน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้หญิงก็ต้องการออกมาเช่นกัน การมองว่าเอาเขามาเป็นโล่ อาจไม่ใช่ เพราะมีเหตุการณ์ช่วงวันที่ 10 เม.ย.ที่ราชประสงค์ ที่มีการเคลื่อนตำรวจเข้ามา ก็มีผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงอาสาเข้าไปเจรจา เป็นยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองก็มีกรณีแบบนี้ ถือเป็นเจตจำนงของผู้ชุมนุม ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมมีเด็กมาด้วยนั้น บางครอบครัวก็มาจากต่างจังหวัด หากเขาไม่พามาด้วยแล้วเด็กจะอยู่กับใคร ทั้งนี้ ภาพจากบางจุดนั้น เหมือนว่าเด็กอยู่ในที่ปะทะ แต่เมื่อดูภาพมุมกว้างแล้ว จะเห็นว่า เด็กไม่ได้อยู่ในด่านหน้า
000

การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า

ส่วนการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมนั้น นางอมรากล่าวว่า ในวันดังกล่าวมีแสงเลเซอร์นำมาก่อนจะที่ พล.อ.ร่มเกล้าจะถูกยิงตาย สะท้อนว่ามีการวางแผน ซึ่งคงระบุฝ่ายไม่ได้ แต่ทหารคงไม่ได้ยิงกันเอง ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า เราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นแผนฆาตกรรม แต่บอกได้ว่า ผู้ลงมือมีความชำนาญ และยังไม่ตัดสมมติฐานว่าอาจเป็นทหารทำกันเอง เพราะไม่มีข้อมูลส่วนนั้น
000

กรณีบุกโรงพยาบาลจุฬา

ต่อมาผู้ดำเนินรายงานถามในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีรายงานว่า นปช. บุกค้นโรงพยาบาลเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขต รบกวน และก่ออันตรายกับผู้ป่วยนั้น นางอมรากล่าวว่า เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์และความปลอดภัย เพราะฉะนั้น การบุกไม่น่าเกิดขึ้นเลย หน้าตึกสิริกิติ์ และตึก ภปร. มีการเดินเข้าออกกันสะดวกทั้งที่อยู่ในรั้วโรงพยาบาลผู้ชุมนุมก็ชุมนุมไป ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องความแตกต่างว่าโรงพยาบาลควรถูกแยกเด็ดขาดจากสถานที่ชุมนุม ความไม่เข้าใจตรงนี้ทำให้เกิดการกระทำบางอย่างที่ไม่ควรเกิด
หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการถามต่อไปว่า ที่มีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐซุ่มอยู่ ผู้ชุมนุมเลยเข้าไปตรวจ นางอมรากล่าวว่า ขึ้นกับว่ามีการคุยกับผู้บริหารอย่างไร และนี่เป็นสมมติฐานของผู้ชุมนุม ไม่สามารถบอกได้ แต่ รปภ. ของ โรงพยาบาลจุฬาฯ หลายคน เวลาเลิกงานก็ไปชุมนุมกับเสื้อแดง ก็มีความอะลุ้มอล่วยกันมาก
ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า สาเหตุที่มีการบุกโรงพยาบาล เพราะเขาได้ข่าวลือมาแบบนั้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามมีการขอโทษแล้ว และไม่ควรทำอีก ขณะเดียวกัน ควรต้องดูท่าทีของบุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งมีฐานคิดมาก่อนว่าว่าคนเสื้อแดงน่ากลัว ตั้งใจใช้ความรุนแรง ถ่อยเถื่อนและล้มเจ้า และก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐก็มีการสร้างภาพทางลบ สร้างความตื่นตระหนก ขณะที่โรงพยาบาลตำรวจก็อยู่ได้ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ว่ารัฐหรือผู้ชุมนุมก็ไม่ควรเข้าไปในโรงพยาบาล
000

กรณีเผาห้าง-เผาศาลากลาง

ส่วนกรณีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์และศาลากลางจังหวัดนั้น ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่าการเผาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างน้อย กรณีเผาศาลากลาง เกิดจากการที่แกนนำพูดยั่วยุบนเวทีให้ประชาชนมาพร้อมน้ำมัน การยั่วยุตรงนั้นทำให้บางคนฮึกเหิมและเผา แม้ นปช. จะอ้างว่าไม่ใช่ ซึ่งไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นใคร
ขณะที่กรณีเซ็นทรัลเวิลด์ พยานแวดล้อมมีไม่มากแล้ว เพราะ 19 พ.ค. รัฐบาลให้เลิกชุมนุม แต่ข้อมูลที่ได้มาคือ มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือกลุ่มคนไปทะเลาะกับ รปภ. ทำให้มีความสับสนและมีการเผา
ขณะที่ น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ศปช. ได้สัมภาษณ์พยานแวดล้อม ได้ตามคดีที่มีเยาวชนถูกฟ้อง ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งคดีเหล่านั้น ต่อมาได้ยกฟ้องหมด และในชั้นศาลหัวหน้า รปภ. ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ให้การว่า มีคนแต่งกายคล้ายทหารอยู่ข้างใน ขณะที่รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนบอกว่าแต่งกายคล้ายการ์ด ส่วนรายงานของ คอป. บอกว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราระบุแบบนั้นไม่ได้ เพราะหลังยุติการชุมนุม ทหารเข้ายึดพื้นที่หมดแล้ว
หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการถามว่า การปราศรัยของแกนนำบนเวทีเป็นปัจจัยไหม น.ส.ขวัญระวีตอบว่า การพูดยั่วยุมีในทุกการชุมนุม แม้แต่ในการชุมนุมของชาวบ้านในประเด็นอื่น ตามหลักสากล การใช้ความรุนแรงทางวาจา ต้องเป็นลักษณะที่จะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีที่ คอป. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพูดโยงเรื่องคลิปของแกนนำเรื่องการเผา เท่าที่ดูทั้งสามคลิป เป็นการพูดคนละบริบท เพราะคลิปของอริสมันต์ที่บอกว่า ถ้าทหารมาให้เตรียมน้ำมันมา หมายถึงถ้ามีรถถังมาให้ใช้น้ำมัน เพราะน้ำมันจะทำให้รถถังเคลื่อนลำบาก ดังนั้น ต้องดูให้เป็นระบบมากกว่านี้ ไม่ใช่โยงทั้งหมดมา
ส่วนการชุมนุมไม่สงบนั้น ตามหลักสากล ไม่สามารตีความอย่างแคบได้ การชุมนุมไม่ใช่นั่งสวดมนต์ เป็นธรรมชาติที่ต้องปลุกใจ ถ้ามีคำหยาบคาย ในเบื้องต้น อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมของแกนนำ
000

ทิ้งท้าย ประธาน กสม.หวังทุกฝ่ายจะช่วยระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ส่วนนักวิจัย ศปช. หวังให้คืนความยุติธรรมแก่ผู้สูญเสีย

ในช่วงท้ายรายการ ผู้ดำเนินรายการถามว่า สามปีผ่านไป สังคมได้อะไร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า จากบทเรียนคือทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าไม่ควรเกิดอีกอย่างแน่นอน ต้องช่วยกันระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปบทเรียนไว้ว่า ผู้จัดการชุมนุมต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ รวมคนให้ไม่แตกแยกแล้วคุมไม่ได้ เน้นที่บทบาทผู้จัดการชุมนุม ให้คุมคนได้ ไม่ให้เอาอาวุธเข้ามา ส่วนรัฐบาลก็ต้องดูแลการชุมนุมให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายพิเศษ และเสนอให้ตั้งหน่วยงานดูแลการชุมนุม เพื่อฝึกคนให้มีทักษะในการดูแลการชุมนุม
ส่วน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่าหวังว่าสังคมจะเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจรัฐ ว่าไม่ใช่คำนึงเฉพาะความมั่นคง สงบเรียบร้อยอย่างเดียว ต้องสร้างสมดุลเรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีการค้นหาความจริงต่อ เพราะหลายเรื่องยังคลุมเครือ ความจริงคือการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่สูญเสีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น