วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผลงานเดิม:ข้อบกพร่องของร่างรายงานกรรมการสิทธิกรณีการชุมนุม นปช.ปี 2553

เปิดบันทึกอนุกรรมการสิทธิฯถึง “อมรา พงศาพิชญ์”-แนะให้พิจารณาร่างรายงานกสม.ให้รอบคอบก่อนเผยแพร่

9 July 2011 at 22:48
เปิดบันทึกอนุกรรมการสิทธิฯถึง “อมรา พงศาพิชญ์”-แนะให้พิจารณาร่างรายงานกสม.ให้รอบคอบก่อนเผยแพร่
Sat, 2011-07-09 20:07
ทีมข่าวการเมือง
บันทึกข้อความจากหนึ่งในอนุกรรมการสิทธิฯ ถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้ข้อบกพร่องของร่างรายงานกรรมการสิทธิกรณีการชุมนุม นปช.ปี 2553 ติงการสอบการละเมิดสิทธิต้องเริ่มที่การกระทำของรัฐกระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ “ไม่ใช่วิเคราะห์ว่า การกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่?”
แม้สื่อมวลชนบางฉบับนำเอารายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ มาเปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า การแถลงข่าวรายงานฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกไป เนื่องจากได้รับคำท้วงติงอย่างรุนแรงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้วยกันเอง พร้อมด้วยบันทึกความเห็นต่อรายงานดังกล่าวโดยละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความไม่รอบด้านของข้อมูล ทั้งได้เสนอให้ “พิจารณาร่างรายงานนี้อย่างรอบคอบเสียก่อนการเผยแพร่ต่อไป”
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 54 รศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ อนุกรรมการ ใน คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำบันทึกเรียน ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยแสดงความความเห็นต่อ “ร่างรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓”
โดยผู้เขียนบันทึกเห็นว่าร่างรายงานดังกล่าวขาดการลำดับข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอในบางประเด็นที่ควรเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังเสนอแนะด้วยว่า “ในการวิเคราะห์ผลกระทบหรือผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น โดยทั่วไปต้องเริ่มจากการพิเคราะห์ว่า การกระทำของรัฐกระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่? หรือการกระทำของผู้ชุมนุมก่อให้เกิดภยันตรายโดยละเมิดกฎหมายอย่างไร มีความมุ่งหมายที่มิชอบ หรือมีพฤติการณ์ร้ายแรงเพียงใด? ไม่ใช่วิเคราะห์ว่า การกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่?”
พร้อมยังเสนอแนะว่า “ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐนั้น ต้องพิเคราะห์ว่าการกระทำที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมีเหตุให้กระทำได้โดยชอบหรือไม่? ทั้งยังต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่า หากมีเหตุให้รัฐจำกัดสิทธิมนุษยชนได้โดยชอบ การใช้อำนาจของรัฐได้เป็นไปโดยสมควรแก่เหตุหรือไม่? หรือเหตุเสียหายหรือการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นมีสาเหตุโดยตรงมาจาก หรือมีการกระทำของบุคคลอื่นมากระทบร่วมด้วย หรือมีเหตุอื่นมามาตัดรอนผลแห่งการกระทำหรือความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ออกไปเพียงใด? ทั้งนี้ต้องพิจารณาทั้งในแง่เหตุการณ์เฉพาะกรณีแต่ละกรณี และภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมดโดยอธิบายให้กระจ่างด้วย”
โดยในตอนท้ายผู้บันทึกได้เสนอประธาน กสม. ว่า “เห็นสมควรพิจารณาร่างรายงานนี้อย่างรอบคอบเสียก่อนการเผยแพร่ต่อไป”

โดยร่างรายงานดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เลื่อนการนำเสนอออกไปแล้ว ขณะที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 8 ก.ค. ได้ตีพิมพ์หัวข้อและใจความสำคัญของรายฉบับดังกล่าวด้วย [อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง]
สำหรับบันทึกข้อความดังกล่าว มีรายละเอียดต่อไปนี้
000

บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ      คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ...........................
ที่ ............................................................. วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔
เรื่อง      บันทึกความเห็นเกี่ยวกับร่างรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
เรียน     ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ผ่านประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ตามที่คณะอนุกรรมการฯได้ขอให้ผมทำความเห็นเกี่ยวกับร่างรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นเบื้องต้นนั้น
เนื่องจากเวลาที่ให้พิจารณามีจำกัด และผู้ทำรายงานยังไม่เคยได้เห็นรายงานนี้มาก่อน และเข้าใจว่าร่างรายงานดังกล่าวมุ่งจัดทำขึ้นในลักษณะเป็นรายงานสรุปข้อเท็จจริงยิ่งกว่าจะทำเป็นรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คาดว่าจะได้มีการพิจารณาโดยละเอียดต่อไป จึงใคร่ขอรายงานเพียงโดยย่อเพียงบางประเด็นดังต่อไปนี้
๑. รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงได้แสดงให้เห็นความพยายามของคณะกรรมการฯในการฟังความทั้งสองฝ่ายแล้ว และมีความละเอียดรอบคอบพอสมควร แต่ยังขาดการลำดับข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอในบางประเด็นที่ควรเพิ่มเติม อาทิเช่น
๑.๑ รายงานได้กล่าวไว้ว่า นปช. ได้ประกาศเริ่มชุมนุมใหญ่ขึ้นในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้ประกาศเขตรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในวันเดียวกัน แต่โดยที่การประกาศเขตรักษาความมั่นคงเป็นการประกาศจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซี่งอาจกระทำได้โดยอ้างเหตุผลด้านการรักษาความมั่นคง จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำโดยสมควรแก่เหตุหรือไม่ โดยต้องฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ารัฐบาลอาศัยข้อเท็จจริงใดมาประกอบการพิจารณาในการออกประกาศดังกล่าว แต่ในรายงานไม่ได้ระบุไว้อย่างแจ้งชัดว่าได้มีการตรวจสอบในประเด็นนี้แล้วหรือไม่
แม้รายงานหน้า ๑๑ (กรณีที่ ๑) ระบุว่า ศอฉ. รายงานว่าเหตุใดจึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ ๗ เมษายน แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าเหตุใดจึงต้องประกาศเขตรักษาความมั่นคง
๑.๒ รายงานหน้า ๒๐ (กรณีที่ ๒) ระบุว่ามีผู้บาดเจ็บให้การว่าระเบิดถูกยิงมาจากด้านสวนลุมพินี และมีผู้อยู่ในเหตุการณ์และได้รับบาดเจ็บให้การว่าทิศทางการยิงมาจากกลุ่ม นปช. โดยรายงานระบุว่ารับฟังได้ แต่ไม่ได้ให้เหตุผลว่ารับฟังได้เพราะเหตุใด เช่นผู้บาดเจ็บไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย หรือน่าเชื่อเพราะไม่มีเหตุโกรธเคืองกับ นปช. มาก่อน ฯลฯ แต่มาระบุพยานฝ่ายเป็นกลางภายหลัง ซึ่งควรนำเสนอว่าเป็นพยานที่สอดคล้องต้องกันจึงน่าเชื่อ (หน้า ๒๑)
แม้ในรายงานหน้า ๒๑ จะมีการระบุว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าฝ่ายผู้ชุมนุม นปช. น่าจะเป็นฝ่ายใช้อาวุธสงครามในการชุมนุม เป็นข้อสรุปที่มีความสำคัญมาก และเป็นเหตุควรตำหนิผู้ชุมนุมและผู้นำการชุมนุมอย่างรุนแรง จึงจะต้องมีพยานประกอบกับเหตุผลหนักแน่นให้ระบุเช่นนั้นโดยโต้เถียงได้ยาก แต่นอกจากพยานผู้ได้รับบาดเจ็บและพยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์แล้ว ในรายงานนี้ไม่ปรากฏว่ามีรายงานหรือพยานจากทางหน่วยงานของรัฐ หรือรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบด้วย ซึ่งหากมีพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยก็จะช่วยให้หนักแน่นขึ้น แต่หากไม่มีพยานจากเจ้าหน้าที่ที่เผชิญเหตุก็ควรต้องระบุไว้ด้วยว่าชั่งนํ้าหนักจากพยานบุคคลประเภทใดบ้าง และเหตุที่ฟังได้เพราะเหตุใด? นอกจากนี้ในหน้าเดียวกันยังระบุข้อเท็จจริงด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุระเบิดถึงสามจุดแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวแล้วใช้โล่กระบองไล่ตีกลุ่มวัยรุ่นที่ขว้างปาสิ่งของใส่กลุ่ม นปช. ทำให้น่าสงสัยต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เผชิญเหตุรับรู้ว่ามีการยิงเครื่องระเบิดมาจากฝ่าย นปช. แล้ว ได้พยายามกันกลุ่มวัยรุ่นไม่ให้ยั่วยุกลุ่ม นปช. เพื่อป้องกันเหตุร้ายหรืออย่างไร หรือว่ามีเหตุอื่นให้ต้องใช้กำลังขับไล่ผู้ชุมนุมฝั่งสีลมจนมีการขอความช่วยเหลือจากทหารในเวลาต่อมา? รายงานได้ระบุไว้ในหน้า ๒๒ ว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ตีประชาชนโดยไม่มีการประกาศเตือน และไม่บอกกล่าวเหตุผล ไม่แยกแยะ เป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุผลสมควร นั้นเป็นข้อสรุปที่ถูกต้องในหลักการ แต่การสรุปในสิ่งที่มีสาระสำคัญยิ่งยวดเช่นนั้นควรจะตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงที่ได้มีการสอบสวนปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้รับผิดชอบการเผชิญเหตุเสียก่อน เพื่อจะได้มีน้ำหนักเพียงพอ
๑.๓ การนำเสนอรายงานกระทำในรูปของข้อความเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อความแน่นอนชัดเจน และสามารถเข้าใจได้ง่าย นอกจากการรายงานด้วยข้อความที่ชัดเจนแล้ว เห็นว่าจำเป็นต้องมีการแสดงแผนภาพ หรือภาพถ่าย หรือคลิปวิดิโอประกอบด้วย
๑.๔ เกี่ยวกับเหตุปะทะกันเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนนั้น ไม่มีการสอบสวนว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงโปรยแก๊ซนํ้าตาใส่ฝูงชนบริเวณถนนราชดำเนินในช่วงบ่าย และเย็นวันที่ ๑๐ เมษายน? ไม่มีการระบุด้วยว่า ฝ่ายข่าวทหารได้วิเคราะห์สถานการณ์ว่าจะมีการใช้ความรุนแรง หรือใช้กำลังอาวุธหรือไม่ และไม่มีการชี้แจงว่าหากฝ่ายทหารวิเคราะห์สถานการณ์เช่นนั้นแล้ว เหตุใดจึงใช้วิธีสลายการชุมนุมตามที่ได้กระทำในวันที่ ๑๐ เมษายน? ในทางกลับกัน ถ้าไม่ได้วิเคราะห์ว่าฝ่ายผู้ชุมนุมจะใช้ความรุนแรงตอบโต้ เหตุใดจึงใช้วิธีประกาศเขตความมั่นคงและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งใช้กำลังทหารเคลื่อนกำลังตอนบ่ายโดยแสดงอาการว่ามีอาวุธครบมือ และใช้ยานเกราะเพื่อขอพื้นที่จราจรคืน เพราะควรคาดหมายว่าการแสดงออกว่าทหารจะใช้กำลังรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโปรยแก๊ซนํ้าตา ย่อมยั่วยุให้มีการใช้กำลังตอบโต้ มิใช่หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจป้องกันย่อมต้องทำโดยสมควรแก่เหตุ และต้องไม่มีส่วนเร้าให้เกิดความรุนแรงด้วย ควรต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติม
๑.๕ เกี่ยวกับเหตุปะทะกันที่อนุสรณ์สถานในวันที่ ๒๘ เมษายน (กรณีที่ ๓) นั้น ประเด็นสอบสวนสำคัญเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมประท้วงที่เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่โดยมีอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธ เป็นการกระทำความผิดอย่างเห็นได้ชัด และมีเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนเล็กยาวใส่เจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ถึงแก่ความตาย ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นการกระทำของฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงที่ก่อความไม่สงบ หรือเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่เอง ประเด็นนี้อันที่จริงปรากฏรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีการกล่าวถึงนายทหารยศพันโทคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้น่าสงสัยว่าอาจเป็นการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกิดสำคัญผิดยิงเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองหรือไม่? แต่รายงานได้สรุปข้อเท็จจริงไว้ค่อนข้างกำกวม และระบุว่ายังสรุปไม่ได้ โดยไม่ได้แสดงหลักฐานการสอบสวนที่ชัดเจนเพียงพอ ดังจะเห็นได้ว่า ในรายงานของคณะกรรมการฯ ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ตั้งมั่นอยู่ทางทิศใด และอย่างไร และมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดเหตุจากเจ้าหน้าที่ หรือเป็นไปได้เพียงใดที่อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่คนทั่วไปควรสันนิษฐานว่าการใช้อาวุธปืนที่ใช้กระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงจากระยะไกลดังกล่าว ย่อมต้องอาศัยอาวุธพิเศษประกอบกับความชำนาญอย่างสูง น่าจะเป็นอาวุธของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เว้นแต่จะมีเหตุควรสงสัยว่าจะมาจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ การสรุปข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวจึงยังไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้คนทั่วไปคลายความสงสัยอันพึงมีไปได้?
๒. ในการวิเคราะห์ผลกระทบหรือผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น โดยทั่วไปต้องเริ่มจากการพิเคราะห์ว่า การกระทำของรัฐกระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่? หรือการกระทำของผู้ชุมนุมก่อให้เกิดภยันตรายโดยละเมิดกฎหมายอย่างไร มีความมุ่งหมายที่มิชอบ หรือมีพฤติการณ์ร้ายแรงเพียงใด? ไม่ใช่วิเคราะห์ว่า การกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่? และในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐนั้น ต้องพิเคราะห์ว่าการกระทำที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมีเหตุให้กระทำได้โดยชอบหรือไม่? ทั้งยังต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่า หากมีเหตุให้รัฐจำกัดสิทธิมนุษยชนได้โดยชอบ การใช้อำนาจของรัฐได้เป็นไปโดยสมควรแก่เหตุหรือไม่? หรือเหตุเสียหายหรือการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นมีสาเหตุโดยตรงมาจาก หรือมีการกระทำของบุคคลอื่นมากระทบร่วมด้วย หรือมีเหตุอื่นมามาตัดรอนผลแห่งการกระทำหรือความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ออกไปเพียงใด? ทั้งนี้ต้องพิจารณาทั้งในแง่เหตุการณ์เฉพาะกรณีแต่ละกรณี และภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมดโดยอธิบายให้กระจ่างด้วย อย่างไรก็ดี ข้อนี้เข้าใจว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของอนุกรรมการที่ทำหน้าที่ปรับผลทางกฎหมายที่จะต้องพิจารณา ซึ่งต้องการข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบสวนที่ละเอียดกว่าในร่างรายงาน
๒.๑ การตั้งประเด็นกรณีเหตุปะทะกันในวันที่ ๑๐ เมษายน (รายงานข้อเท็จจริง กรณีที่ ๑ หน้า ๑๓) กำหนดประเด็นไว้เพียงสองประเด็นคือ การขอคืนพื้นที่เป็นการกระทำอันเป็นการละเลยหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และผู้ชุมนุมได้ชุมนุมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เท่านั้น นับว่าเป็นการตั้งประเด็นพิจารณาในภาพรวมโดยไม่ได้แยกพิจารณากรณีเฉพาะรายประกอบด้วยทั้ง ๆ ที่กรณีเฉพาะเรื่องบางกรณีอาจมีผลกระทบต่อภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นการประเมินผลความชอบด้วยกฎหมายย่อมขาดข้อเท็จจริงที่สำคัญไปบางส่วน
อาทิเช่น ในการสอบสวนไม่ได้ตั้งคำถามว่า การที่ทางราชการประกาศเขตความมั่นคง และสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ได้กระทำไปโดยชอบแล้วหรือไม่ การที่ไม่ได้ตั้งคำถามเช่นนั้นอาจเข้าใจได้ว่าเพื่อจำกัดขอบเขตการพิจารณา แต่อาจทำให้ขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบก่อนดำเนินการ และระหว่างดำเนินการให้สมควรแก่เหตุหรือไม่ เพียงใด
นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุก็ไม่ได้ตั้งประเด็นให้ชัดขึ้นว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ยิงแก๊ซนํ้าตา และโปรยแก๊ซนํ้าตามาจากเครื่องบินตั้งแต่เวลาบ่ายนั้นมีเหตุผล หรือเป็นการป้องกันในเรื่องใด และสมควรแก่เหตุหรือไม่?
ทั้งยังมีประเด็นน่าสงสัยด้วยว่า เมื่อทางราชการประกาศเขตรักษาความมั่นคง แล้วต่อมายังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง รวมทั้งใช้วิธีเข้าขอคืนพื้นที่ด้วยกำลังทหารที่ปรากฏกายโดยเหมือนมีอาวุธครบมือ เป็นผลมาจากการวิเคราะห์สถานการณ์อะไร เพราะย่อมเข้าใจได้ว่าทางราชการเห็นว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงจึงได้ดำเนินการเช่นนั้น แต่เอาเข้าจริงกลับขาดการเตรียมการ โดยใช้กำลังทหารจำนวนน้อย ไม่มีการแบ่งแยกผู้ชุมนุมเพื่อให้ทหารสามารถควบคุมฝูงชนในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมได้โดยง่าย นับว่าไม่มีวิธีการจัดการที่เข้าใจจิตวิทยาผู้ชุมนุมอย่างดีเพียงพอ ขัดแย้งกับการประกาศเขตความมั่นคง และสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งการใช้แก๊ซนํ้าตาทั้งที่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายผู้ชุมนุมได้ใช้ความรุนแรง หรือใช้กับกลุ่มที่ยังไม่มีการใช้ความรุนแรงนั้น ยังอาจเข้าลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรงโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
ดังนั้นแม้ในภาพรวมอาจสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐชอบที่จะใช้ความรุนแรงได้ และแม้ฝ่ายผู้ชุมนุมและแกนนำการชุมนุมอาจมีส่วนผิดที่ไม่หาทางป้องกันการใช้ความรุนแรง หรือระงับไม่ให้มีการใช้อาวุธจากฝ่ายผู้ชุมนุมก็ตาม ในบรรดาข้อเท็จจริงที่ขาดไปนี้ อาจมีกรณีที่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคณะกรรมการฯ ควรจะได้วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไว้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานในอนาคตไว้ด้วยเช่นกัน
๒.๒ ในกรณีเหตุระเบิดที่แยกศาลาแดง (กรณีที่ ๒) นั้น ประเด็นที่ตั้งไว้คือการประทุษร้ายที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้ใด หรือผู้ใดมีส่วนต้องรับผิดชอบ ซึ่งพยานหลักฐานส่อไปในทางน่าเชื่อว่ามาจากแหล่งเดียวกับที่ผู้ชุมนุมปักหลักอยู่ แต่ไม่มีพยานหลักฐานประกอบว่า หน่วยงานของรัฐมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร หรือบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่กลุ่มใดหรือบุคคลใดตั้งมั่นอยู่หรือมีใครเป็นหัวหน้า ทำให้การสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม หรือแกนนำการชุมนุมต้องรับผิดชอบค่อนข้างขาดน้ำหนัก นอกจากนี้การจะชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่กลุ่มผู้ชุมนุมหรือแกนนำจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ ก็จะต้องมีการแสดงมาตรฐานที่วิญญูชนควรคาดหมายว่าแกนนำการชุมนุมหรือกลุ่มผู้ชุมนุมควรปฏิบัติอย่างไรไว้ด้วย เมื่อกลุ่มดังกล่าวละเลยไม่ปฏิบัติจึงจะนำไปสู่ข้อวินิจฉัยได้ว่า เป็นพฤติการณ์ที่คนกลุ่มนี้ต้องรับผิดชอบครบถ้วนตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล และหลักความรับผิดชอบ
๒.๓ ในกรณีเหตุปะทะกันที่หน้าอนุสรณ์สถาน(กรณีที่ ๓) ก็เช่นกัน สรุปพยานหลักฐานแล้วไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอว่าเป็นผลจากการกระทำของฝ่ายใด แต่ไม่ได้มีการพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมด้วยว่า เหตุร้ายที่เกิดเป็นผลจากความรับผิดชอบของฝ่ายใดเพียงใด
ทั้งหมดนี้ใคร่ขอเรียนให้ทราบว่า การตั้งข้อสังเกตในที่นี้ได้กระทำอย่างเร่งรีบ โดยสรุปจากการอ่านอย่างรวดเร็ว และให้ความเห็นอย่างรวดเร็วเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการโดยยังไม่มีเวลาอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ที่พึงกระทำ แต่ในขั้นนี้เห็นว่า ผู้จัดทำร่างรายงานแม้จะได้ใช้ความอุตสาหะอย่างยิ่งแล้วก็ยังมีข้อสังเกตอันพึงได้รับการพิจารณาเพิ่มเติมประกอบด้วย เห็นสมควรพิจารณาร่างรายงานนี้อย่างรอบคอบเสียก่อนการเผยแพร่ต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

นายกิตติศักดิ์ ปรกติ
อนุกรรมการฯ

อ้างอิง http://www.prachatai3.info/journal/2011/07/35945

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น