วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

15 ปีในความทรงจำ..... พล.อ.สุจินดา คราประยูร มอง"คมช."จากประสบการณ์ตรง







15 ปีในความทรงจำ..... พล.อ.สุจินดา คราประยูร มอง"คมช."จากประสบการณ์ตรง

          "จนถึงวันนี้ผมมีแนวความคิดว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง .....ควรที่จะมีทางออกเมื่อหานักการเมืองไม่ได้ ก็หาผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นแทน ซึ่งเป็นเพียงแนวความคิด แต่ก็มีผู้คนต่อต้าน ไปคิดว่าจะมีการต่อท่ออำนาจการเมือง ไปคิดแค่นั้นแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่มองระยะยาว....."
          คงไม่มีใครคาดคิดว่า "ภาพประวัติศาสตร์" การเมืองไทยเมื่อ 15 ปีก่อน ในยุคสมัยที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี "บิ๊กทหารคนสำคัญ" เข้าร่วมกระทำการยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาล "น้าชาติ" พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จะมาบังเกิดขึ้นอีกครั้งในการเมืองไทย "ยุคโลกาภิวัตน์" ที่เริ่มเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ด้วยสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันที่ "นักการเมือง" มีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากในอดีต ทำให้สภาวการณ์ทางการเมืองไทย ต้องหันมาใช้ "การรัฐประหาร-ยึดอำนาจ" ด้วยกำลังทหารเป็นทางออกแก้วิกฤตการเมือง
          ดังนั้น เมื่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย "ซ้ำรอยเดิม" เข้าสู่ขั้นตอนการเริ่มนับหนึ่งใหม่ "มติชน" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "อดีตบิ๊ก รสช." ที่ชื่อ "บิ๊กสุ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้ผ่านประสบการณ์ตรง เพื่อได้รับรู้ถึงมุมมองและแนวความคิดที่มีต่อการเมืองไทยเวลานี้ ภายใต้การนำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธาน คมช. ซึ่งไม่แตกต่างไปจากยุค รสช.เรื่องอำนาจ
          ทั้งนี้ ห้วงชีวิตของ พล.อ.สุจินดาถือเป็นจุดพลิกผัน เพราะหลังกระทำการยึดอำนาจรัฐบาล "น้าชาติ" และมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคการเมือง 5 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้พล.อ.สุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของไทยในวันที่ 7 เมษายน 2535
          และเหตุการณ์นี้เองที่เป็น "ชนวนสำคัญ" ที่มีประชาชนออกมาต่อต้านการ "นำคนนอก" ที่ไม่ใช่ ส.ส. เข้ามานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จนนำมาสู่เหตุนองเลือด "พฤษภาทมิฬ" ในห้วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของไทยที่มีการต่อสู้จนเกิด "เหตุนองเลือด" ของคนไทยด้วยกันเอง และในที่สุด พล.อ.สุจินดาก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 รวมระยะเวลาใน "เก้าอี้ผู้นำประเทศ" เพียง 45 วัน
 มอง พล.อ.สนธิ กับการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นอย่างไร
          เขาก็เป็นคนดี เป็นคนใช้ได้ เพราะความจริงการปฏิบัติการเขาใช้ความเสี่ยงมาก และเขาเพิ่งขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ยังไม่ได้คุมอำนาจได้เต็มที่ ทหารอีกฝ่ายที่เป็นของคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ก็มากพอสมควร แต่เขายังดำเนินการไปได้สำเร็จลุล่วง ถือว่าเขาเป็นคนบุคลิกดี ทำงานดี และโดยลักษณะท่าทางไม่น่าจะเป็นคนที่คิดจะเล่นการเมืองต่อไป
  แต่การปฏิวัติทุกครั้งทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังกลับไป
          ถอยหลังเพราะไม่มีทางออกให้เขา นักการเมืองก็เห็นด้วยทุกครั้ง ซึ่งตัวนักการเมืองนี่แหละตัวดี ยุให้ทำด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะตัวเองไม่มีทางสู้
  ที่ผ่านมา พล.อ.สนธิได้ขอคำแนะนำหรือเข้ามาปรึกษาการทำงานหรือไม่
          ไม่มี อย่าไปเชื่อว่ามีการเดินทางมาขอคำแนะนำจาก รสช. ไม่มี (หัวเราะ)
  ปฏิวัติครั้งนี้หากเปรียบกับสมัย รสช. มีเหตุผลเงื่อนไขเพียงพอหรือไม่
          รู้สึกว่าครั้งนี้จะรุนแรงกว่า เพราะทุกคนต่อต้านระบอบทักษิณหมด ผมไม่เข้าใจนะว่าเขาจะถูกหรือผิด แต่พรรคการเมืองอื่นมองว่าลงเลือกตั้งก็สู้ไม่ได้ ซึ่งผมว่าผิดนะ พรรคการเมืองเมื่อเล่นการเมือง แต่กลับไม่ส่งคนลงสมัคร และหากดูการยุบสภาตามความรู้เรื่องประชาธิปไตยที่ผมมี ประเทศอื่นไม่ว่าอังกฤษ มาเลเซีย เขาก็มีการยุบสภา หากพรรครัฐบาลอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบจะได้มีผู้แทนมากขึ้น
  พ.ต.ท.ทักษิณจำเป็นที่ต้องให้อยู่นอกประเทศหรือไม่
          ผมยังสงสัยว่าเอาอะไรไปห้ามท่านไม่ให้เข้าประเทศ สิทธิทุกประการของคนไทย เนรเทศไม่ได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่กล้าเข้ามาเอง เพราะกลัวว่าหากเข้ามาจะถูกจับ หรือเป็นอันตราย แต่หากจะเข้ามาก็สามารถทำได้ ไปห้ามอะไรเขาไม่ได้ เพราะจะไปเนรเทศคนไทยทำไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนไทย หากผิดก็ติดคุกไปเท่านั้น
   พล.อ.สนธิเคยระบุว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาประเทศจะไม่รับรองความปลอดภัย
          เหตุผลที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่มาก็เรื่องนี้แหละ (หัวเราะ) บางครั้งต้องเห็นใจทหาร เพราะเป็นคนพูดอะไรตรงไปตรงมา ไม่ค่อยมีความจัดเจนการเมือง การต่างประเทศเท่าใดนัก
  การเดินเกมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้วิธีโลกล้อมประเทศไทย
          เป็นเพราะเราไม่ทำความผิดของเขาให้ออกมา ทำอย่างไรให้มีการฟ้องศาลแล้วสรุปความผิดออกมา เมื่อผลออกมาประชาชนก็ไม่เชียร์เขาเอง เพราะได้รู้ความจริง ดังนั้น ต้องไปเร่งผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะผมไม่รู้ว่าอำนาจอยู่ที่ใครที่จะลงโทษ
  คมช.สุภาพเกินไปไม่มีความเด็ดขาดในการแก้ปัญหา
          คนที่ไม่รู้กฎหมายก็จะบอกว่าทำไมไม่ยึดอำนาจไปเลย เหมือนสมัยของ รสช. ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ ซึ่ง พล.อ.สิทธิ จิระโรจน์ ท่านยังเสียใจอยู่เลย เพราะเขาไปเชื่อคนอื่นมาหาว่าเราตั้งศาลเตี้ย ไม่ปล่อยให้เขามีโอกาสต่อสู้ ทำไมไม่ไปฟ้องศาล เราก็เชื่อแล้วปล่อยคดีขึ้นศาล สุดท้ายเป็นไงก็หลุดหมดเลย คนก็มาด่าเรา เพราะเมื่อเราจะยึดไปเลย อีกฝ่ายก็มาว่าเป็นศาลเตี้ย พิพากษาเอง เราก็เลยตกลงเอาคดีขึ้นศาล
  การปฏิวัติครั้งนี้มองว่ามีความเด็ดขาดหรือไม่
          หากเด็ดขาดก็ต้องยึดทรัพย์ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะอีกอย่างการสอบสวนมันเป็นเรื่องยาก เพราะข้าราชการและลูกน้องที่ทำงานอยู่ก็เป็นของคนเก่าๆ เยอะแยะ เราจะไปรู้ได้ไงว่าใครเป็นคนของใคร ข้างบนก็จ้องเล่นงานแต่หลักฐานไม่ขึ้นมาสักที
 จากประสบการณ์ที่เคยกระทำการยึดอำนาจมามีอะไรที่จะแนะนำ คมช.บ้าง
          (หัวเราะ) ไม่อยากไปแนะนำ เพียงแต่ทำสิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายในการยึดอำนาจออกมาให้เป็นผล แล้วไม่ต้องไปกลัวคลื่นใต้น้ำอะไรทั้งนั้น เพราะประชาชนเขาพร้อมที่จะสนับสุนน เขาเป็นใจให้แล้ว
  หลายคนเปรียบเพื่อน ตท.6 เหมือนยุคสมัย รสช. ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น จปร.5 ที่เรืองอำนาจ
          คนข้างนอกยังเข้าใจผิดมองว่าเป็นการเล่นพวก เป็นการเข้าใจผิด เคยพูดหลายครั้งว่ามันเป็นจังหวะของรุ่น โดยเฉพาะทหารซึ่งแต่ละตำแหน่งอยู่ประมาณ 3 ปี คนถัดไปอีก 2 รุ่นไม่ได้เป็น เมื่อคอยไม่ไหวก็ต้องย้ายไปเอาตำแหน่งที่อื่น มันเป็นอย่างนี้เป็นจังหวะเช่นนี้ และหากความสามารถเท่ากันก็ต้องเอาคนที่เราไว้ใจมากกว่า ซึ่งคนที่ไว้ใจก็คือเพื่อน เพราะพูดกันง่ายรู้เรื่อง ก็หาว่าไปเล่นพวก ก็เหมือนกันทั้งนั้น เพราะเราต้องไว้ใจคนใกล้ชิดก่อน แต่ผมไม่เคยมองลูกน้องเลยว่าใครรุ่นไหน ไม่เคยรู้ ไม่เคยถามด้วย เพราะผมไม่คำนึง และไม่ก้าวก่าย ผมจะดูเฉพาะระดับ พล.อ.เท่านั้น ระดับอื่นให้เขาไปดูกันเอง
  คณะนายทหาร รสช. กับ คมช. มองว่ายุคไหนมีความความแนบแน่นกว่ากัน
          ความแน่นหนาของ คมช. คงจะสู้ยุค รสช. ไม่ได้ เพราะ รสช.ทำออกมาเกือบจะเป็นรุ่นเดียวกันหมดที่คุมกำลังทั้งหมด แต่ คมช.ไม่แน่นเท่าไหร่
  มองว่าจะเกิดปัญหาความแตกแยกภายใน คมช.เองหรือไม่

          เรื่องนี้มีคนพูดกันมาก แต่ไม่น่าจะเกิด เพราะไม่มีใครที่จะปฏิวัติหรือทำอะไรได้เพื่อตัวของตัวเอง ไม่มี เพราะไม่มีใครเอาด้วย จะบอกว่าเอ๊ยอั้วไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกปฏิวัติมันเลย ไม่มีทางสำเร็จ ทหารคนไหนปฏิวัติเพื่อตัวเองไม่มีทาง ไม่มีลูกน้องคนไหนเอาด้วย
  คมช.จะปฏิวัติซ้ำเพื่อให้ทุกอย่างเบ็ดเสร็จ

          ก็มีการพูดกันมาก แม้แต่ในทางโหราศาสตร์ ผมคิดว่าอาจจะเป็นไปได้เหมือนกัน คือ จะทำรูปแบบไหนไม่รู้ แต่จะทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอะไรที่มันคาราคาซัง เหมือนสมัยที่ พล.อ.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังปฏิวัติตนเอง อาจจะเป็นไปได้ เพราะบางทีที่เขาต้องการจะทำตามจุดมุ่งหมายในสิ่งที่เขายังทำไม่ได้ ซึ่งมีตำรวจคนหนึ่งมาบอกผมว่ารับรองว่าคดีทั้งหลายเอาผิดใครได้ยินดีจะเลี้ยงโต๊ะจีน แม้แต่คดีสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะ คตส.ทำงานไม่เป็น มีตำรวจมาพูด จนคราวหลังต้องเชิญตำรวจมาร่วมตรวจสอบ
  หาก คมช.คิดต่ออำนาจทางการเมืองเป็นการคิดถูกหรือผิด
          เขามีบทเรียนมาแล้ว เขาไม่น่าจะทำอะไรที่เป็นข้อบกพร่องที่เป็นความผิดพลาดในอดีต โดยเฉพาะคณะปฏิรูปในขณะนี้ คงไม่คิดที่จะเล่นการเมืองโดยจิตใจ
   คมช.จะต่อท่ออำนาจการเมืองผ่าน พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช.
          พล.อ.วินัย เกือบจะไม่ได้อยู่กับหน่วย และเมื่อดูแล้วไม่น่าจะมีใครต่ออำนาจทางการเมือง
  รัฐบาลชุดนี้จะอยู่บริหารประเทศจนครบวาระหรือไม่
          ยังไงก็ต้องไปให้ถึง เพราะถ้าไปไม่ถึงก็ยิ่งแย่ ต้องไปให้ถึงไปให้ครบจนได้ มีการเลือกตั้งจนได้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความแตกแยกของคนในประเทศ ซึ่งมีการแตกแยกกันรุนแรง และยิ่งแก้ยาก เพราะอีกฝ่ายขึ้นมาแล้วมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู
  นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ เปรียบรัฐบาลเป็นฤๅษีเลี้ยงเต่าท่านมองอย่างไร
          (หัวเราะ) สมัยอาจารย์เสนีย์ ปราโมท เป็นรัฐบาล ท่านเป็นฤๅษีเลี้ยงลิง สมัยนี้เลี้ยงเต่าก็คือทุกคนช้าไปหมด แต่เราต้องเห็นใจเขา
  กรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มองว่ารัฐบาลชุดนี้จะเกิดปัญหาหรือไม่
(หัวเราะ) แล้วทำไมเขาปล่อยให้คุณสนธิ (นายสนธิ ลิ้มทองกุล) มีอำนาจมากนักล่ะ
  รัฐบาลต้องการให้นายสนธิมาประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่า
          กลุ่มอำนาจเก่าไม่มีอะไรน่ากลัว หากทำออกมาได้ว่าเขาผิด ทำผลงานให้ออกมาเร็วๆ ทั้งรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ออกมาให้ได้ว่าเขาผิด เพราะเรื่องทุจริตมีมากมายทั้งเรื่องคลองด่าน สุวรรณภูมิ โครงการเป็นหมื่นๆ ล้าน เร่งพิสูจน์ออกมา ทำไมถึงให้มันเงียบไปหมด ทำความจริงให้ออกมาไม่ต้องไปกลัว
  รัฐบาลชุดนี้บริหารงานมาถูกทางหรือไม่
          คนก็มองว่าผลงานไม่ออก ไม่รู้ว่าไปติดขัดอะไร อาจเป็นเพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจ เจ้าหน้าที่ก็กลัวว่าทำไปแล้วจะกลับมาถูกฟ้องภายหลัง สมมุติว่าบอกว่าเรื่องนี้ทุจริต แต่เมื่อฟ้องไปสรุปไม่เป็นจริง เขาก็กลับมาฟ้องกลับ อธิบดีก็โดนไป สู้เขาไม่ทำดีกว่า (หัวเราะ)
  นายกรัฐมนตรีก็เริ่มเครียดและถูกมองว่าท่านกำลังจะถอดใจ
          คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนที่เสียสละจริงๆ ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อเขารับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นคนที่เสียสละมาก แต่ความเหลวแหลกของระบบของอะไรต่างๆ ต้องแก้ไขกันมาก ผลงานที่ไม่ค่อยมีเพราะติดอะไรหลายอย่าง และ พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นคนที่มีความสามารถสูง ทุกคนต้องยอมรับว่าสมัยเขาเป็นนายกรัฐมนตรีโครงการออกมาเยอะ ถูกบ้างผิดบ้าง เราก็ไม่รู้นะ แต่คนเขาเห็นว่าเป็นคนทำงานไว เป็นนักบริหาร ใครมาเป็นต่อก็เหนื่อย เฉพาะที่ตามแก้เรื่องที่ไม่ถูกต้องก็แย่อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดไม่ถูกและผิดหลักแน่ๆ คือ หากจังหวัดไหนเป็นไทยรักไทยให้สนับสนุนจังหวัดนั้น อันนี้เป็นสิ่งที่ผิดหลักที่สุดของประชาธิปไตย และควรจะถูกด่ายับไปแล้ว เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ควรจะพูดเช่นนั้น
  ปัญหาที่จะทำให้สถานการณ์การเมืองสะดุดชะงักงันจะเกิดขึ้นหรือไม่
          หากพูดถึงความวุ่นวายทางการเมือง ไม่น่าจะมี ยกเว้นเรื่องรัฐธรรมนูญ และเศรษฐกิจ เพราะทุกพรรคสนับสนุน ยกเว้นแค่พรรคไทยรักไทยเท่านั้น ห้วงเวลาที่ต้องระวังตามที่โหรทำนาย หรือตามที่มีคนเขาพูดกัน คือ ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนนี้ คงต้องติดระวัง (หัวเราะ)
  มองว่าขั้วอำนาจเก่าจะสามารถกลับมามีอำนาจได้หรือไม่
          โอกาสที่จะกลับมาสูงพอสมควร เพราะหากเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง เขายังมีโอกาส ทุกพรรคยังต้องกลัว เพราะโครงการประชานิยมเขายังได้รับความนิยมอยู่ ดังนั้น ผู้ที่ตรวจสอบอยู่ต้องรีบให้เขาทำ เร่งออกมาให้เห็นว่าผิดชัดเลยว่าโกงอะไรไปบ้าง พี่น้องเอาไปเท่าไหร่ ซึ่งบางคนยังเคยเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ขณะนี้กับมาเป็นมหาเศรษฐีก็มี 
  มองแนวคิดนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างไร
          จนถึงวันนี้ผมมีแนวความคิดว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะหากนักการเมืองที่อยากจะเป็น เมื่อเขามีเสียงข้างมาก ใครอยากจะเอาคนนอกเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรี หากเขาได้ทำไมเขาจะเอาคนนอกเข้าไป เขาก็ต้องเอานักการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ควรที่จะมีทางออกเมื่อหานักการเมืองไม่ได้ ก็หาผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นแทน ซึ่งเป็นเพียงแนวความคิด แต่ก็มีผู้คนต่อต้าน ไปคิดว่าจะมีการต่อท่ออำนาจการเมือง ไปคิดแค่นั้นแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่มองระยะยาว เหมือนอย่างเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนยึดอำนาจ 19 กันยายนที่ผ่านมา หากมีการระบุว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ต้องมายึดอำนาจกัน
  เห็นด้วยกับแนวความคิดนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง
         ผมเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์เลย เพราะผมมีความรู้สึกว่าหากนักการเมืองพร้อมที่จะเป็นใครเขาจะให้คนอื่นเป็น แต่พวกนี้มองแต่การสืบทอดอำนาจ จะแก้เฉพาะจุดนี้แต่ระยะยาวทำอะไรไม่ได้ และไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดยิบกระดิกตัวไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ควรมีหลายมาตรา และมีเฉพาะที่จำเป็น ควรเขียนกว้างๆ แล้วไปวางหลักเกณฑ์ในกฎหมายลูกดีกว่า ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนจะรู้อะไร ขนาดผมเองรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมายังไม่ได้อ่านเลย เพราะเป็นคนไม่สนใจการเมือง ลองไปถามประชาชนว่ามีกี่มาตรา เขายังไม่รู้เลย แล้วจะทำประชาพิจารณ์เพื่ออะไร ประชาชนรู้อะไร
  การเมืองไทยจะมีการปฏิวัติซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่
          ไม่มีใครอยากให้มี ผมเองยังไม่เคยคิดเลยว่าจะมีการยึดอำนาจอีก เพราะมองแล้วว่ายากด้วยสังคมโลก ทหารเองก็ไม่อยากปฏิวัติ ทหารไม่อยากยุ่ง และทหารไม่มีความชำนาญในการเล่นการเมืองเพราะทหารพูดดำเป็นขาว พูดขาวเป็นดำไม่เป็น เห็นทหารที่ออกมาเล่นการเมืองแล้วมีใครประสบความสำเร็จบ้าง ไม่มี ทหารมันเห็นไอ้นี่ผิดแล้วบอกถูกไม่ได้ คนที่ค่อนข้างเตรียมตัวทางการเมืองมากหน่อยก็มี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ยังไปไม่รอดเลย เพราะคุมนักการเมืองที่เป็นลูกน้องไม่อยู่ ไม่เหมือนในกองทัพ บอกหันซ้ายก็หันซ้าย บอกหันขวาก็หันขวา ไปบอกนักการเมือง เขาตอบกลับเอาเงินมาสิ การเมืองไทยถ้าทำให้การเลือกตั้งไม่ใช้เงินได้ก็ไปรอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น