วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เสื้อแดงบุกไล่'อมรา' ทวงรายงานสลายชุมนุมปี53


เสื้อแดง บุก กสม.ทวงถามรายงานสลายชุมนุมปี 53 ขณะ “อมรา” ออกโรง เผชิญหน้าตอบข้อซักถาม ยันรายงานที่ปรากฏไม่ใช่ฉบับจริง ชี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดแล้วเสร็จภายใน 1–2 เดือน...

วันที่ 29 ส.ค.2555 ที่บริเวณหน้าอาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ได้มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กว่า 50 คน นำโดย นางพะเยา อัคฮาด มารดาของน้องเกด น.ส.กมลเกด อัคฮาด เดินทางมาขอพบ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อสอบถามกรณีที่มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการสลายการชุมนุมปี 53 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทางสื่อมวลชน ซึ่งมีเนื้อหาระบุในทำนองว่า คนเสื้อแดงเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น เป็นผู้ใช้ความรุนแรง

ขณะที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสากล ภายใต้กฎหมาย ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับคนเสื้อแดง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนเสื้อแดงที่เดินทางมาชุมนุมต่างก็แสดงอารมณ์โมโห ไม่พอใจกับผลสรุปของรายงานที่อ้างว่าเป็นรายงานของ กสม. โดยมีการตะโกนต่อว่าการทำหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ อยู่ตลอดเวลา ขณะที่รถกระบะที่ติดเครื่องขยายเสียง ก็มีการติดป้ายผ้า ที่เป็นภาพของนางอมราและกรรมการสิทธิฯ ที่เคยนำดอกไม้ไปมอบให้นายอภิสิทธิ์ เมื่อครั้งเป็นรัฐบาล และเมื่อนางอมราลงมาพบกับผู้ชุมนุม พร้อมกับ นางวิสา เบ็ญจมโน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ผู้ชุมนุมก็กรูเข้าล้อม นางอมรา และคณะ พร้อมกับตั้งคำถามผ่านไมโครโฟนที่พ่วงกับเครื่องขยายเสียง เพื่อให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่มาติดต่อราชการภายในอาคารศูนย์ราชการ ได้รับทราบ สร้างความสนใจให้กับผู้สัญจรไปมาเป็นอย่างมาก

โดยผู้ชุมนุมต่างก็สับเปลี่ยนกันตั้งคำถามกับนางอมราว่า หาก กสม.ระบุว่ารายงานที่มีการเผยแพร่ไม่ใช่ฉบับจริง ของจริงจะออกเมื่อใด และจากท่าทีของ กสม. ที่ผ่านมาต่อการปกป้องการละเมิดสิทธิคนเสื้อแดง มองว่า กสม.ไม่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิคนเสื้อแดง แต่ให้การปกป้องสิทธิคนเสื้อเหลืองมากกว่า เป็นลักษณะ 2 มาตรฐาน อีกทั้งภาพที่นางอมรานำดอกไม้ไปให้นายอภิสิทธิ์ เมื่อรวมกับรายงานที่มีการเผยแพร่ สะท้อนว่า กสม.ชุดนี้โน้มเอียงเข้าข้างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และอยากจะถามใจ กสม. การที่มีผลสรุปออกมาว่า ในเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรงและเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นนั้น คนที่ตายในวัดปทุมฯ ถือว่าถูกละเมิดสิทธิหรือไม่

ซึ่งนางอมราก็ตอบทุกคำถามของคนเสื้อแดง โดยกล่าวว่า ทาง กสม. ไม่ได้มีการบิดเบือนข้อมูล หลังมีรายงานของ กสม. หลุดออกมาก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่ารายงานการสลายชุมนุมปี 53 ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ฉะนั้น รายงานที่หลุดออกมาไม่ใช่รายงานของ กสม. แต่อย่างใด เนื่องจากในรายงานดังกล่าวมีเนื้อหา รายละเอียด ที่ซับซ้อน ดังนั้น กสม.ต้องใช้ความรอบคอบในการตรวจสอบ เพื่อให้รายงานออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด ซึ่งการจะบอกว่าใครถูกละเมิดสิทธิ ก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละคนถูกละเมิดสิทธิโดยบุคคลที่แตกต่างกันไป จะไปเหมาไม่ได้ อย่างของ น.ส.กมลเกด ก็โดนละเมิดสิทธิอย่างชัดเจน และยืนยันว่า กสม.ได้พยายามที่จะรักษาสิทธิของผู้ชุมนุมทุกครั้งที่มีการชุมนุม ก็จะออกแถลงการณ์ถึงทุกรัฐบาล ให้คำนึงถึงการปกป้องสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง และ กสม.ก็ไม่ได้นำดอกไม้ไปให้นายอภิสิทธิ์เท่านั้น แต่ไปให้รัฐบาลนี้ ไปให้แกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งเข้าใจว่า คนเสื้อแดง ได้ข้อมูลเพียงด้านเดียว จึงไม่เข้าใจการทำงานของ กสม.

“เราไม่เคยบอกว่ารัฐบาลไม่ผิด เพราะทุกอย่างต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป การกล่าวหาในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการปรักปรำ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยทำงานสองมาตรฐาน เราเดินทางไปเยี่ยม นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ ที่เคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ รวมทั้งยังเดินสายไปพบปะทุกฝ่าย ยืนยันว่าไม่เลือกปฏิบัติ” นางอมรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต่อว่า กสม.ทำงานอย่างตรงไปตรงมา เต็มความสามารถ แต่ที่รายงานดังกล่าวออกมาล่าช้า เพราะมีเนื้อหาที่ยากและซับซ้อน กสม.จะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เป็นกลาง และโปร่งใส พร้อมทั้งจะเร่งพิจารณารายงานดังกล่าวออกไปสู่สาธารณชนโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมได้พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า นางอมราไม่เหมาะที่จะดำรงตำแหน่งประธาน กสม. เพราะทั้งมีอคติกับคนเสื้อแดงอยู่แล้ว เนื่องจากสมัยที่เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นแกนนำล่ารายชื่อไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจากตำแหน่งนายกฯ ในขณะนั้น และเมื่อมาเป็นประธาน กสม. ก็ล่าช้าในการตรวจสอบเรื่องต่างๆ โดยผู้ชุมนุมก็ต่างตะโกนว่า อยู่จนหัวหงอกแล้วทำอะไรไม่ได้แล้วจะอยู่ทำไม ไม่ลาออกไป

ซึ่งนางอมรา ก็กล่าวว่า ขณะที่เป็นอาจารย์ไม่เคยเป็นแกนนำไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะนั้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั้นทำจดหมายเปิดผนึกถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนเรื่องลาออกนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ มีกรรมการรวม 7 คน ข้อเรียกร้องเรื่องนี้กรรมการทั้ง 7 คนต้องช่วยกันพิจารณา จะออกมาอย่างไรก็ไม่ทราบ

โดยนางพะเยา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า รายงานที่มีการเผยแพร่ขณะนี้ เป็นความตั้งใจของ กสม. ที่ให้มีการรั่วไหลออกมา เพื่อเป็นการชี้นำสังคม เพราะอีกไม่นาน คอป. จะมีการสรุปรายงานมาแล้ว ซึ่งหาก กสม. ยังยืนยันว่า รายงานฉบับจริงยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนตัวในฐานะที่รอก็เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเห็นรายงานฉบับนี้แล้ว เพราะตราบใดที่นางอมรา ยังคงทำหน้าที่เป็นประธาน กสม. เชื่อว่าคงไม่มีความเป็นธรรมและเป็นกลางให้แก่สิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ตนก็ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อให้กำชับไปยังกองทัพ ว่า อย่ามาชี้นำดีเอสไอ ในการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการชุมนุมคนเสื้อแดง

ส่วน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า รายงานที่มีการเผยแพร่ไม่ใช่ของจริง และที่ กสม.ทำก็ไม่เคยมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 9 ชุด อย่างที่ปรากฏเป็นข่าว และเนื้อหาก็ไม่ตรงกับฉบับจริง อีกทั้งการพิจารณาของ กสม. ก็ไม่จำเป็นต้องรอรายงานฉบับสุดท้ายของ คอป. เพราะไม่สามารถนำมาพิจารณาร่วมกันได้

ทั้งนี้ ในรายงานของ กสม. จะเป็นการสรุปผลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ รวมทั้งจะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อให้เยียวยาต่อไป ซึ่งเวลานี้ กสม. กำลังเร่งพิจารณา เชื่อว่าภายใน 1 – 2 เดือนนี้จะแล้วเสร็จ.

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นางอมรา และกรรมการสิทธิฯ ได้ตอบข้อซักถามของกลุ่มคนเสื้อแดงเสร็จ กลุ่มคนเสื้อแดง ก็ได้นำดอกไม้จันท์ มามอบให้กับนางอมรา และคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วย

กลับไปหน้าบลอกนี้