เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ ณ วัดพรหมนิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส มีกลุ่มชาวไทยในพื้นที่ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับถือศาสนาพุทธ จำนวนกว่า ๓๐๐ คน เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางอังคณา นีละไพจิตร นางจิราพร บุนนาค และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่
คำร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มมีความหลากหลายในประเด็นการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือถูกเลือกปฏิบัติ จากเอกสารร้องเรียนและข้อเสนอของประชาชนจำแนกประเด็นของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและต้องการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบ ได้แก่
๑. ปัญหาการแก้ไขเยียวยาของครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือผู้พิการจากเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่แจ้งว่า การจ่ายเงินค่าเยียวยามีความล่าช้ามาก ค่าเยียวยามีความเหลื่อมล้ำ และบางรายเมื่อย้ายออกจากพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว ก็จะไม่ได้รับการดูแล
๒. ปัญหาความปลอดภัยในชีวิต ประชาชนในพื้นที่ยังต้องประสบกับความยากลำบากในการเดินทาง และถูกข่มขู่จากผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่กดดันให้อพยพออกจากพื้นที่ ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ บางชุมชนร้าง ไม่มีผู้อยู่อาศัย
๓. ปัญหาค่าตอบแทนที่เป็นค่าเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ยังไม่มีมาตรการจำแนกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ผู้เสี่ยงภัยรุนแรงและกลุ่มทั่วๆไป
๔. ปัญหาเรื่องเด็กกำพร้าและหญิงหม้ายที่ขาดการดูแลอย่างทั่วถึงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา อย่างแท้จริง เช่น ด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ
๕. ปัญหาเรื่องจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่รัฐและหน่วยงานภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา
ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงรายหนึ่งแจ้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ตนเองและครอบครัวอยู่ในพื้นที่โดนข่มขู่จากผู้ก่อความไม่สงบ โดยกลุ่มดังกล่าวแสดงท่าที่เข้ามาจะจับจองที่ดินทำกินซึ่งเป็นสวนยางพารา และพักอาศัย และพยายามกดดันให้ออกจากพื้นที่ ขณะนี้เดือดร้อนมาก ต้องการความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และที่ดินทำกิน รวมถึงการเดินทางไปนอกพื้นที่ก็ไม่ปลอดภัย ถ้าหากประชาชนในพื้นที่ถูกข่มขู่กดดันจนอยู่ไม่ได้แล้ว ใครจะมาอยู่ หมู่บ้านบางหมู่บ้านมีประชาชนย้ายออกไปบ้างแล้วจนจะเป็นหมู่บ้านร้าง
นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งต่อประชาชนที่มาร้องเรียนว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาครัฐต้องจัดให้ประชาชน โดยไม่เลือกปฏิบัติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อิสระไม่ขึ้นต่อรัฐบาล มีหน้าที่ส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานภาครัฐที่ปฏิบัติหรือกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขให้รัฐดำเนินการให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ข้อคิดเห็นและคำร้องเรียนของประชาชนในวันนี้ร้อย ๆ คำร้อง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเร่งดำเนินการพิจารณาจัดหมวดหมู่ประเด็นคำร้องว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านใด แล้วจะทำงานตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิโดยด่วน
ศ. ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปสุดท้ายว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้พี่น้องได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในพื้นที่ภาคใต้ และแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานในพื้นที่ประชาชนสามารถใช้เป็นช่องทางในการร้องเรียนเพื่อคุ้มครองสิทธิได้โดยตรง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเร่งดำเนินการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการดูแลพี่น้องประชาชนตามอำนาจหน้าที่
รวมทั้ง การปรับแนวทางการดำเนินการในการดูแลประชาชน จากการที่รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมมาตรการการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบหลายรายไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือของรัฐที่เพิ่มขึ้นทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์ที่พึงได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น