วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

แถลงการณ์ กสม. เรียกร้องทุกฝ่ายยุติความรุนแรง หยุดการเผชิญหน้าในวันที่ 2 ก.พ



แถลงการณ์ กสม. เรียกร้องทุกฝ่ายยุติความรุนแรง หยุดการเผชิญหน้าในวันที่ 2 ก.พ.

สืบเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมในสถานที่ต่างๆ โดยยึดหลักความเป็นกลาง อิสระ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางสันติในการแก้ปัญหา เคารพสิทธิซึ่งกันและกันมาโดยตลอด

จากการประชุมร่วมระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยประธานกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 เพื่อหารือการดำเนินการเลือกตั้ง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผลการปรึกษาหารือร่วมกันดังกล่าว มีข้อสรุปว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่กำหนดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยังคงยืนยันตามพระราชกฤษฎีกาฯ ที่กำหนดไว้เดิม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทราบและเข้าใจสาเหตุการรวมกลุ่มชุมนุมและข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นเรื่อยมา นับตั้งแต่การคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม จนกระทั่งการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยกลุ่มผู้ชุมนุมให้เหตุผลว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับว่าหากรัฐภาคีใด ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมแล้ว ประชาชนของรัฐภาคีนั้น ย่อมสามารถพึ่งวิถีทางสุดท้าย คือ การลุกขึ้นต่อต้านความอยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขัดขวางประชาชนจนไม่สามารถไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ รวมถึงการประกาศให้มีการคัดค้านหรืออาจมีการกระทำที่เป็นการขัดขวางมิให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนแก่ทุกฝ่ายเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และการใช้อำนาจของรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีข้อห่วงใยและข้อกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง กรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนคำนึงและสมควรดำเนินการตามข้อที่ควรปฏิบัติ ดังนี้


1. รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันมิให้เกิดความรุนแรง ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับผู้ชุมนุม และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่มีการเลือกตั้งเป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องปรามมิให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก ผู้จัดการชุมนุมต้องดูแลการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และต้องปฏิบัติภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ โดยจะต้องหลีกเลี่ยงและป้องกันมิให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นอีก
รัฐบาลและผู้จัดการชุมนุมต้องร่วมกันในการสร้างระบบการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่การชุมนุม ตลอดจนต้องกำหนดมาตรการต่างๆ ในการเฝ้าระวัง หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และป้องปรามผู้ไม่หวังดีที่ก่อสถานการณ์ความรุนแรง

2. รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการอำนวยความสะดวกต่อประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์ในการทำหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้เป็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 72 และขณะเดียวกันรัฐบาลต้องรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63

3.รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรทำความเข้าใจต่อประชาชนให้เข้าใจถึงการดำเนินการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ว่าได้ดำเนินการไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่าการปรึกษาหารือร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการกระบวนการเลือกตั้งของรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นวิธีการที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบ หากมีข้อขัดข้อง หรือมีอุปสรรคใดๆ ที่คาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรงต่อการเลือกตั้ง รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งควรได้มีการเจรจา และประชุมเพื่อหารือร่วมกัน เป็นระยะๆ มีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องก่อนถึงวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรง และประเทศชาติเกิดความเสียหายจากการนี้

4. สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวที่เป็นความจริง ปราศจากอคติ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและต้องเป็นการสร้างสรรค์ ช่วยให้สังคมเกิดความสันติ อีกทั้ง รัฐบาลและผู้จัดการชุมนุมต้องรับผิดชอบในหลักประกันความปลอดภัยต่อการทำงานของสื่อมวลชนในที่ชุมนุม และในบริเวณหน่วยเลือกตั้ง

5. รัฐบาลต้องกำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการสืบสวน และสอบสวน เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีเพื่อลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว ในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง บริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง บริเวณถนนบรรทัดทอง บริเวณวัดศรีเอี่ยม บริเวณห้าแยกลาดพร้าว บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณสโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต ที่มีการใช้ความรุนแรงที่มีการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สิน ตามกฎหมาย ด้วยความโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และมีความไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยแถลงให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง และความคืบหน้าให้สาธารณชนได้รับรู้เป็นระยะโดยเร็ว

6. รัฐบาลจะต้องให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บการเยียวยาผู้เสียหาย ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่เสียชีวิตจากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้เป็นมาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม โดยการให้หลักประกันว่าจะให้ความเป็นธรรมและเยียวยาทุกฝ่าย ทั้งในรูปเงินช่วยเหลือ การฟื้นฟู การช่วยเหลืออื่น ๆ และการเยียวยาด้านจิตใจโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตไว้เป็นข้อมูลเพื่อให้รัฐบาลได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งในรูปตัวเงิน การดูแลด้านจิตใจ และการช่วยเหลืออื่นๆ ต่อไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้ใช้สติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก หยุดการเผชิญหน้าและหยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทางออกที่ดีที่สุดคือกลับมาสู่การเจรจาโดยเร็วเพื่อนำความสงบและสันติสุขคืนสู่ประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น